พุทธทาสภิกขุ เชื่อว่าหากเราเข้าใจสัจธรรมของโลกแล้วก็จะเห็นว่าความจริงมีอยู่หนึ่งเดียว ไม่แบ่งแยกศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม อย่างไรก็ตาม การค้นหาความจริงในแนวทางของพุทธทาสภิกขุผู้ประกาศตนว่าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า ก็เป็นไปในวิถีพุทธ 
แนวคิดหลักของท่านพุทธทาสคือ "จิตว่าง" หรือความว่างจากความมีตัวตนและความเป็นเจ้าของ ในที่นี้ ท่านไม่ได้หมายความว่าจิตว่างหมายถึงการไม่คิด หรือไม่รู้สึกอะไร แต่คือการคิดและรู้สึก แล้วก็ทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ย้ำคิดย้ำทำ นับเอามันมาเป็นภาระหรือประกอบเป็นตัวตนของเรา แค่เห็นมันเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับมัน   
   พุทธทาสภิกขุเห็นต่างจากพุทธศาสนากระแสหลักของไทยในเวลานั้นว่าการบรรลุธรรมต้องอาศัยบุญบารมีหลายชาติหรือต้องทำบุญด้วยการประกอบพิธีกรรม แต่เห็นว่าการบรรลุธรรมนั้นสามารถทำได้เดี๋ยวนี้ ทำได้ที่ใจ โดยไม่ต้องบวชก็ได้ แต่ผ่านการปฏิบัติในชีวิตประจำวันโดยการฝึกจิตไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่นกับทุกสิ่งที่ไม่แน่นอนและนำพา
ความทุกข์ต่างๆ เข้ามา ซึ่งรวมทั้งบุญกรรม และพิธีกรรมแบบพุทธเองก็ด้วย

 การศึกษาพุทธศาสนาในมุมมองนี้เรียกว่า
"โลกุตรธรรม" คือไม่ได้เป็นธรรมะที่เกี่ยวข้องกับการทำยังไงให้รวย การดูแลคนรัก หรือการแก้กรรม (เรียกว่าโลกียธรรม) แต่มีการกำหนดเป้าหมายเป็นนามธรรม คือมุ่งเน้นการบรรลุนิพพาน หรือหยุดการเวียนว่ายตายเกิดที่พุทธศาสนาเชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น และทำให้เราเป็นทุกข์ อย่างไรก็ตาม พุทธทาสภิกขุพยายามทำให้โลกุตรธรรมนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำจิตว่างเวลาทำงานทำให้ทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่สับสนเคร่งเครียด และก็ได้ปฏิบัติธรรมไปด้วย หรือธรรมะคือการอยู่กับธรรมชาติ กลืนไปกับความเป็นไปของธรรมชาติ เป็นต้น คือให้เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันเป็นการปฏิบัติธรรมก็ได้ ทำให้ชนชั้นกลางและผู้มีภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวันที่ไม่อาจะละทิ้งทั้ง
การงานและภาระทางจิตวิญญาณหันมาให้
ความสนใจเป็นอันมาก จนทำให้การอธิบายธรรมะของพุทธทาสภิกขุแตกสายออกไปอย่างหลากหลาย ถูกผูกโยงกับแนวคิดอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งในไทยและทั่วโลก

 
   พุทธทาสภิกขุ เดิมชื่อ นายเงื่อม พานิช บวชเรียนตามธรรมเนียมเมื่ออายุ 20 ปี ปรากฏหลักฐานว่าไม่ได้คิดจะบวชไม่สึก แต่หลังบวชไม่นานก็มีโอกาสได้เทศน์สอนธรรม พระเงื่อมประยุกต์เอาเนื้อหาจากแหล่งต่างๆ มาอธิบายประกอบการเทศน์แทนการอ่านจากใบลานแบบเดิม จึงทำให้เข้าใจง่ายขึ้นและเป็นที่ชื่นชอบ กิจกรรมต่างๆ ที่ทำระหว่างที่บวช เช่นการเขียนหนังสือขำขันให้อ่านกันภายในวัดก็เป็นที่นิยม ทำให้พระเงื่อมมีชีวิตที่ดีในผ้าเหลือง จึงไม่คิดจะลาสิกขาอีก
ในวัย 26 ปี พระเงื่อมเข้าเรียนธรรมที่กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญ 3 ประโยค สนใจในการท่องเที่ยว การพิมพ์ดีด งานเขียนของปัญญาชนและสิ่งใหม่ในเวลานั้น แต่กลับไม่เห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่จะนำพาไปถึงแก่นของพุทธศาสนา ในปี พ.ศ.2474 พระเงื่อมเดินทางกลับบ้านเกิดที่ตลาดพุมเรียง อำเภอไชยา และค้นคว้าทางจิตวิญญาณต่อไปโดยลำพัง ถัดมาจึงปวารณาตนเป็น "พุทธทาส" หรือทาสของพระพุทธเจ้าที่นั่น
pig07 ปีเดียวกันนั้น ท่านได้พบวันตระพังจิตซึ่งเป็นวัดร้าง จึงก่อตั้งสวนโมกขพลาราม หรือสวนแห่งความหลุดพ้นขึ้นที่นั่น ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติและสอนธรรมในแบบของท่านเอง ภายหลังสวนโมกขพลารามย้ายมาอยู่ที่วัดธารน้ำไหล หรือสถานที่ตั้งปัจจุบัน
พุทธทาสภิกขุเริ่มอาพาธในปี 2534 และมรณภาพลงในปี 2536 ได้สั่งไว้ในพินัยกรรมว่าให้นำร่างที่มรณภาพแล้วไปเผาบนเชิงตะกอนบนยอดเขาพุทธทองในสวนโมกข์อย่างเรียบง่าย เพื่อให้เห็นถึงธรรมชาติของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป